การจะซื้อบ้านทั้งทีถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน แต่ถ้าซื้อบ้านมาแล้ว ภายหลังเกิดความเสียหายกับตัวบ้านที่เกิดจากความไม่ได้มาตราฐานของการก่อสร้าง ไม่เป็นไปตามแบบที่ตกลงกัน หรือมีจุดชำรุดในส่วนที่เรามองไม่เห็น ถือเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกแน่นอน
ก่อนโอนบ้านจากโครงการ จึงต้องตรวจสอบความเรียบร้อยให้ครบถ้วน บริษัทรับตรวจบ้าน จึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้เราอุ่นใจยิ่งขึ้นในการซื้อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ซื้อคอนโดมิเนียมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่และยังขาดประสบการณ์ในการตรวจสอบงานก่อสร้าง บริษัทรับตรวจเหล่านี้จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพมาตรวจตามจุดต่างๆ ให้เป็นตามมาตรฐาน เมื่อเจอข้อเสียหายที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ซื้อบ้านสามารถเลื่อนเวลานัดรับโอนบ้านได้ แต่หลายคนคงสัยว่าบริษัทเหล่านี้จะทำการตรวจสอบได้ละเอียดขนาดไหน และค่าใช้จ่ายจะแพงไปหรือเปล่า ครั้งนี้บ้านและสวนจึงจะมาให้ข้อมูลอย่างละเอียดทั้งการตรวจบ้านของบริษัทและค่าใช้จ่ายต่อขนาดพื้นที่ มาเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่กำลังจะสร้างบ้านกันครับ
รายละเอียดการตรวจรับบ้าน
ปัญหางานหลังคาที่ต้องควรระวังหลักๆ คือ รอยรั่ว ที่จะส่งผลไปถึงภายในบ้าน บริษัทจึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการติดตั้งวัสดุหลังคาต่างๆ ทั้งความเรียบร้อยของรอยต่อแผ่นกระเบื้อง กระเบื้องมีการแตกร้าวหรือบิ่นไหม? ครอบสันหลังคาสภาพดีรึเปล่า? ความเรียบร้อยของงานเก็บเกราท์ปูนครอบสันหลังคา และรางระบายน้ำใต้สันตะเข้
ฝ้า เพดาน
ต่อเนื่องจากส่วนงานหลังคาก็มาทางฝ้า เพดาน ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งหลักๆที่ต้องตรวจสอบก็คือ รอยรั่ว ที่อาจเกิดจากจุดต่อเชื่อมกับโครงหลังคา มุมฝ้าเพดาน หรือวัสดุฝ้าว่ามีแตกร้าวตรงส่วนไหนบ้าง แต่อีกเรื่องที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดนั่นคือ ความเรียบร้อยของงานท่อ ระบบสายไฟ ทั้งบ๊อกซ์ไฟ จุดเชื่อมต่อสายไฟ เฟล็กซ์ร้อยสายไฟ
ระบบไฟฟ้า
ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบ้าน เพราะอาจเกิดอันตรายได้ถ้ามีความผิดพลาดของระบบไฟฟ้า ดังนั้นทีมวิศวกรจะทำการตรวจอย่างละอียดทั้งการใช้งานของสวิตช์และปลั๊กไฟฟ้า การต่อสายไฟถูกต้อง ระบบกันไฟดูด ระบบสายดินของปลั๊กไฟฟ้า การต่อเชื่อมสายไฟกับลูกเบรกเกอร์ และจุดต่อสายไฟในตู้ทั้งหมด ความเรียบร้อยของการติดตั้งอุปกรณ์ ระบบทีวี โทรศัพท์ แอร์ใช้งานได้ดี แอร์ไม่มีน้ำรั่ว และคอมเพลสเซอร์ใช้งานได้ตามปกติ
ระบบประปา งานสุขาภิบาล
การตรวจสอบระบบประปาทีมวิศวกรจะต้องตรวจทั้งภายในและภายในบ้านทั้งท่อต่างๆ ใช้งานได้ดีไม่รั่วซึม กระเบื้องพื้นระดับเอียงลาดไปทางรูระบายน้ำทิ้ง น้ำไม่ขังเป็นแอ่ง ภายในรูระบายน้ำทิ้งไม่มีเศษปูนหรือขยะ การทำงานของปั๊มน้ำและความสะอาดในถังน้ำดี การติดตั้งสุขภัณฑ์ ระบบชักโครกไหลลงตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ การเก็บยาแนวรอบสุขภัณฑ์ รอยแตกร้าวและรอยขูดขีดของสุขภัณฑ์รอยรั่วซึมของท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้ง น้ำไหลแรงไม่อุดตัน
ถ้าสร้างบ้านออกมาแล้วบ้านเกิดมีสัดส่วนไม่ได้องค์ประกอบที่ถูกต้องอย่างผนังเกิดการบิดเบี้ยว คงเป็นเรื่องที่หนักใจสำหรับเจ้าของบ้านอยู่พอสมควร ดังนั้นทีมวิศวกรจะตรวจสอบอันดับแรกเลย คือองศาของผนังว่าได้ฉากดีหรือเปล่า จากนั้นก็เป็นเรื่องของรอยร้าวผนัง และก็ความเรียบร้อยในส่วนต่างๆ ทั้งความเรียบของพื้นผิว การเซาะร่องข้างวงกบประตู การหลุดร่อนของปูนที่ฉาบ รวมไปถึงสีทาผนังโดยรอบ
การตรวจสอบวอลเปเปอร์ก็จะดูความสะอาด เรียบร้อยของการติดตั้งเป็นหลัก โดยดูทั้งส่วนรอยต่อวอล์เปเปอร์ว่าขึ้นตะเข็บหรือไม่รอยต่อมุมผนังทำการรีดเข้ามุมดีหรือเปล่า วอลเปเปอร์ไม่มีการฉีกขาด และเรื่องเฉดสีว่ามีเพี้ยนหรือสีเดียวกันไหม
ประตูและหน้าต่าง
การติดตั้งนั่นถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับประตูและหน้าต่าง เพราะติดตั้งไม่ดีปัญหาต่างๆจะตามมาเยอะมาก ทั้งการรั่วซึมเข้ามาภายในตัวบ้าน การใช้งานที่ไม่สะดวก ซึ่งทีมวิศวกรจะทำการเช็คหลายส่วนอย่างละเอียดทั้ง ทดสอบลูกบิดประตู บานประตูหน้าต่างมีการบิดเบี้ยวหรือไม่? รอยแตกร้าวหรือรอยขีดข่วนของกระจกประตู-หน้าต่าง ตำแหน่งกันชนประตู งานซิลิโคนเฟรมหน้าต่าง รอยต่อทุกส่วนของประตู-หน้าต่าง และอีกหลายส่วนที่จะทำการตรวจอย่างละเอียด
พื้น
บัวพื้น พื้นก็จะมีการตรวจสอบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุของพื้น พื้นลามิเนตก็จะมีการตรวจสอบความแข็งแรงว่ามีการยวบหรือไม่ พื้นได้ระดับดีรึเปล่า รวมไปถึงการติดตั้งว่ามีรอยต่อที่สนิทเรียบร้อยดี ไม่ขึ้นตะเข็บ ส่วนพื้นปาร์เก้จะตรวจสอบความแข็งแรงว่าไม้ไม่มีโพรงและร่อน พื้นไม้ได้ระดับดีหรือไม่ ความเรียบร้อยของพื้นผิว และเฉดสีของพื้นไม้ นอกจากนี้บัวพื้นก็จะมีการตรวจสอบร่วมไปกับพื้นด้วย ทั้งความแข็งแรงว่าติดตั้งแน่นหรือไม่ ความเรียบร้อยของรอยต่อ มุมบัว และพื้นผิว
กระเบื้องพื้นและผนัง
เชื่อว่าในหลายบ้านจะมีการใช้กระเบื้องเป็นวัสดุพื้นหรือผนังห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งงานกระเบื้องถ้าเกิดช่างติดตั้งไม่ประณีตหรือเรียบร้อยพอ รับรองว่าปัญหาจะตามมาภายหลังให้ปวดหัวหนักแน่ ดังนั้นทีมวิศวกรจะตรวจสอบในหลายด้านว่ากระเบื้องไม่มีการบิ่น ไม่แตก ไม่เป็นโพรงหรือร่อน รอยต่อขอบกระเบื้องเสมอกันดี ไม่มีรอยขีดข่วนของแผ่นกระเบื้อง รวมไปถึงความสวยงามของการเก็บแต่งยาแนวและเฉดสีกระเบื้อง
บันได
การตรวจสอบบันไดทีมวิศวกรจะทำการตรวจหลักๆ คือ ความแข็งแรงของราวบันได ระยะความกว้างของลูกนอนและความสูงของลูกตั้ง รอบเชื่อมต่อของราวบันไดว่าได้มาตราฐานดีหรือไม่ รวมไปถึงความเรียบร้อยในส่วนต่างๆของบันไดทั้งการเก็บงานรอยต่อตามจุดต่างๆ ขอบบันได และผิวสีของวัสดุ
รั้ว
รั้วเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกบ้าน ต้องเจอแดด ลม ฝน อยู่เป็นประจำ ดังนั้นความแข็งแรงจึงมาเป็นหลัก ซึ่งทีมวิศวกรจะทำการตรวจความเรียบร้อยของโครงสร้างและการฉาบผนังปูนเรียบร้อย ไม่มีรอยร้าว นอกจากนี้ยังดูความเรียบร้อยต่างๆ เช่น ไม่มีสนิมขึ้น สีไม่เลอะ การเปิด-ปิดทำได้สะดวก
ค่าบริการรับตรวจบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม
บริษัทรับตรวจบ้านจะทำการตรวจประเมินบ้าน 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายก็แตกต่างกัน ตามข้อมูลดังนี้
พื้นที่อาคารขนาดไม่เกิน 120 ตร.ม.
ค่าบริการตรวจครั้งที่ 1 ราคา 2500 บาทค่าบริการตรวจครั้งที่ 2 ราคา 1000 บาท
พื้นที่อาคารขนาด 121-135 ตร.ม.
ค่าบริการตรวจครั้งที่ 1 ราคา 3000 บาทค่าบริการตรวจครั้งที่ 2 ราคา 1000 บาท
พื้นที่อาคารขนาด 136-150 ตร.ม.
ค่าบริการครั้งที่ 1 ราคา ราคา 4000 บาทค่าบริการครั้งที่ 2 ราคา ราคา 1000 บาท
ระยะเวลาการเข้าตรวจ
ทาวน์โฮม 2 ชั้น ประมาณ 3-4 ชั่วโมง
ทาวน์โฮม 3 ชั้น ประมาณ 4-5 ชั่วโมง
บ้านเดี่ยว 2 ชั้น ประมาณ 4-5 ชั่วโมง
ชอบคุณที่มา : www.baanlaesuan.com
Comments