ตรวจสุขภาพหลังคา รู้ปัญหาก่อนแก้ไขได้ทันที
โดยปกติคนเราควรตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปี 1 ละครั้ง เพื่อที่จะทราบได้ว่า อวัยวะแต่ละส่วน ยังสามารถใช้งานปกติดีหรือไม่ หากส่วนไหนเริ่มผิดปกติ อ่อนแอ ขาดความสมดุล จะสามารถหาวิธีป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง เพราะโรคร้ายบางชนิด กว่าจะแสดงอาการให้ผู้ป่วยทราบ ก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายจนยากจะรักษาแล้วครับ
“บ้าน” ที่เราอยู่อาศัยก็ต้องการการดูแลใส่ใจเช่นเดียวกันครับ โดยเฉพาะส่วนของ “หลังคา” ที่อยู่บนสุดเป็นเสมือนปราการปกป้องบ้านทั้งหลัง เมื่อใช้งานไปนานหลายปีย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา ผู้อยู่อาศัยจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัญหาที่คิดว่าเล็กน้อย อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่เสียทั้งเงินทั้งเวลา เนื้อหาชุดนี้จึงขอแนะนำวิธี ตรวจเช็คสุขภาพหลังคาในเบื้องต้นว่า หลังคาป่วยระดับไหนเพื่อแก้ไขได้ถูกจุดครับ
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนหลังคาบ้าน มักมาจากการรั่วซึมที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ลุกลามสร้างปัญหาใหญ่ให้บ้าน
ที่มาของการรั่วซึมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
กระเบื้องหลังคาแตก เนื่องจากได้รับแรงกระแทก เช่น ลูกเห็บหรือกิ่งไม้ ทำให้กระเบื้องเกิดรอยแตกร้าว ทะลุเป็นรู ทำให้น้ำฝนรั่วซึมลงไปทำลายโครงสร้างใต้หลังคาบ้านได้
ปูนที่ใช้ยึดครอบกระเบื้องเริ่มเสื่อมสภาพ แตกหักหรือซึมน้ำ
อุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ ไปตามอายุการใช้งาน หรือโดนสัตว์กัดทำลายเสียหาย เช่น แผ่นปิดรอยต่อ แผ่นกาวติดครอบสันหลังคา ทำให้น้ำไหลเข้ามาทางรอยต่อที่ชำรุดได้
การติดตั้งผิดวิธี เช่น แนวกระเบื้องเบียดกัน ชายกระเบื้องเปิดเพราะระยะแปไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ผิดมาตรฐานตั้งแต่แรก
หลังคาบ้านป่วย (รั่ว) ระยะไหน ?
ระยะที่ 1 เริ่มป่วย
วิเคราะห์อาการ : หากเริ่มได้ยินเสียงน้ำหยดกระทบกับฝ้าช่วงฝนตก หรือสังเกตเห็นคราบน้ำสีน้ำตาลบนฝ้าแม้เพียงเล็กน้อย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีการรั่วซึมขึ้นแล้ว เนื่องจากฝ้าจะดูดซับน้ำที่ไหลซึมลงมา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดูดซับนานผ่านฝนมาหลายครั้งถึงจะปรากฏคราบให้เห็น
แต่ถ้าได้ยินแค่เสียงน้ำแต่ไม่มีคราบ แสดงว่าหลังคาเพิ่งรั่ว หากละเลยนานกว่านั้นจะทำให้ฝ้าเพดานบวมเสียรูปทรงและทะลุได้ สร้างความเสียหายให้เฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งไม้จริงและไม้อัด เช่น ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ เตียง หรือพื้นไม้สังเคราะห์บวมน้ำ ผิดรูป และเกิดเชื้อราจนใช้งานต่อไม่ได้
วิธีการรักษา : ควรติดต่อช่างที่เชี่ยวชาญเพื่อมาสำรวจหาจุดที่หลังคารั่วซึมและซ่อมจุดที่เสียหาย ในระยะนี้การซ่อมแซมจะง่าย โดยเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย จากนั้นใช้สีทาปิดทับบริเวณรอยคราบน้ำก็เรียบร้อย
ภาพ : คราบน้ำที่เกิดบนฝ้าเพดานจากการที่หลังคารั่วซึมระยะเริ่มแรก
ระยะที่ 2 ป่วยลุกลาม
วิเคราะห์อาการ : ระยะนี้สามารถสังเกตเห็นรอยคราบน้ำบนฝ้าเพดานได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีน้ำหยดหรือรั่วซึมลงมาเวลาฝนตกแล้วฝ้าเพดานซับน้ำไม่อยู่ ยิ่งคราบน้ำขยายวงกว้างและสีเข้มมากเท่าไรแสดงว่าฝ้าซับน้ำไว้เยอะ เป็นไปได้ว่าฝ้าใกล้ทะลุแล้ว และอาจลุกลามไปยังจุดอื่น ๆ ใกล้เคียง
สำหรับบางจุดที่ไม่เห็นคราบน้ำแต่พบว่าเฟอร์นิเจอร์บวม มีกลิ่นอับชื้น และเชื้อราขึ้น เป็นไปได้ว่าหลังคาอาจรั่วซึมในจุดที่ตั้งของเฟอร์นิเจอร์นั้น หรือบางบ้านอาจพบว่าไฟบางดวงเปิดไม่ติด เป็นไปได้ว่าเกิดการลัดวงจร ทำให้หลอดไฟเสียหาย
วิธีการรักษา : ในฤดูฝนสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยใช้ภาชนะหรือแผ่นยางเพื่อรองรับน้ำไปก่อน แต่หลังจากนั้นต้องรีบติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจ แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งซ่อมแซมหลังคาจุดที่รั่วซึมทันที ทั้งนี้ควรเลือกช่างที่มีความสามารถและประสบการณ์ ซ่อมครั้งเดียวอยู่ ถ้าฝีมือการซ่อมไม่ดีอาจเกิดปัญหารั่วซึมเรื้อรังได้อีก
ภาพ : คราบน้ำบนฝ้าเพดานเป็นวงกว้างจากการที่หลังคารั่วซึมในระยะที่ 2
ระยะที่ 3 ป่วยระยะสุดท้าย
วิเคราะห์อาการ : ระยะนี้คงไม่มีใครอยากให้มาถึง เพราะถือว่าสาหัสที่สุด ฝ้าเพดานอาจทะลุจนเป็นโพรง มีรอยคราบน้ำสีน้ำตาลเข้มชัดเจนในหลายจุดและไหลลงมาตามผนัง แสดงถึงปัญหารั่วสะสมมาหลายปี เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลนองไปทั่วบริเวณบ้าน
วิธีการรักษา : แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปิดรูที่รั่วไว้ก่อน โดยใช้ผ้าใบปิดหรือแผ่นยางอุด เตรียมภาชนะรองรับน้ำและใช้ผ้าซับน้ำที่รั่วซึมลงมา จากนั้นรีบหาช่างที่มีความเชี่ยวชาญมาซ่อมหลังคา ฝ้าเพดาน รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่ชำรุดโดยด่วน บางกรณีหากเสียหายหนักหลายจุด อาจต้องเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหลังคาเลยทีเดียว
ภาพ : ฝ้าทะลุที่เกิดจากหลังคารั่วซึมมาเป็นระยะเวลานาน
ความเสียหายในจุดอื่น ๆ ของบ้าน อาจเกิดขึ้นแล้วไม่ลุกลาม แต่หลังคาหากรั่วซึมจะกระจายตัวสร้างปัญหาเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นของบ้านได้ หากแก้ไขไม่ถูกจุด วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ฝีมือช่างไม่ดี ก็คงจะสร้างความปวดหัวให้เจ้าของบ้านมากขึ้นไม่รู้จบ
ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย
Comentarios