เมื่อความหรูหราของยุคสมัยนี้ไม่ได้อยู่แค่ราคาข้าวของเครื่องใช้ แต่เป็นพื้นที่ธรรมชาติซึ่งมีน้อยลงทุกที บ้านหลังนี้ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมองเห็นผืนป่าอันร่มรื่นของอุทยานแห่งชาติเอราวัณตั้งอยู่เบื้องหน้า บ้านอิฐแดง
โอบล้อมด้วยความสงบเงียบของธรรมชาติจนได้ยินเสียงน้ำไหลเอื่อยคอยขับกล่อมตลอดทั้งวัน จึงเป็นความหรูหราจากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่ชวนให้หลงใหลนัก บ้านอิฐแดง
คุณเฟี้ยต-เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน สถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน เล่าถึงความคิดแรกเมื่อมาเห็นที่ดินบริเวณนี้ว่า “ด้วยวิวของภูเขาและแม่น้ำที่สวยมาก ทำให้เราเลือกสร้างบ้านที่เปิดมุมมองออกทางวิวนี้ แม้ว่าจะเป็นทิศตะวันตกซึ่งต้องปะทะกับแดดแน่ๆ แต่เส้นขอบของภูเขาเบื้องหน้าก็ดูน่าสนใจเกินกว่าจะเมินหน้าหนี ผมเลยนำเส้นสายของภูเขามาออกแบบเป็นโครงสร้างตัวบ้านให้รับกัน โดยทำเป็นบ้านชั้นเดียวที่ไม่สูงมาก เพื่อไม่ให้บังวิวภูเขา และพยายามเปิดพื้นที่ภายในให้โปร่งเพื่อมองผ่านไปสู่ธรรมชาติได้ ที่สำคัญคือแก้ปัญหาเรื่องแดดโดยใช้หลักการระบายอากาศตามธรรมชาติมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบบ้าน”
แนวคิดนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้านได้อย่างพอดีในเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุดและได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะเจ้าของบ้านบอกกับเราว่า “ปกติทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เจอกับมลภาวะและเสียงดังที่รบกวนมามากแล้ว เวลามาพักผ่อนที่บ้านหลังนี้เลยอยากอยู่เงียบๆ กับแสงและลมธรรมชาติ ซึ่งทุกครั้งที่มาเราก็รู้สึกและสัมผัสได้ถึงธรรมชาติอย่างเต็มที่จริงๆ”
บ้านพักผ่อนส่วนแรกวางตัวขนานไปกับแม่น้ำและภูเขา สถาปนิกแบ่งตัวอาคารแยกออกเป็นกล่องคั่นด้วยสเปซที่ว่างซึ่งเข้าไปแทรกในตัวอาคารเพื่อให้เกิดช่องลมธรรมชาติหมุนเวียน แต่ละกล่องอาคารแยกฟังก์ชันใช้งานเป็นส่วนห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอนหลัก และห้องนอนแขกเรียงกันไป เชื่อมต่อด้วยทางเดินเล็กๆ ที่มีช่องระบายอากาศไว้ด้วย ผนังแทบทุกส่วนจึงมีทางระบายลมร้อนและทางเข้าของลมเย็น ขณะเดียวกันตัวผนังของอาคารเองก็ยังเป็นผนังอิฐบล็อกสองชั้นที่เว้นช่องอากาศไว้ตรงกลางแล้วปิดผิวด้วยกระเบื้องดินเผาเทอร์ราคอตตาซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นและเป็นฉนวนที่ดีซึ่งเก็บความเย็นได้
“พอเราจัดการบล็อกความร้อนอย่างจริงจังแล้วก็เลยไม่กลัวแดด และไม่ตกแต่งอะไรข้างนอกเยอะ ผมอยากให้ทุกอย่างเปิดโล่งออกไปหาวิวได้ไม่ว่าจะอยู่ห้องไหนในบ้าน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวภายในเป็นของสะสมที่เจ้าของซื้อมาไว้อยู่แล้ว ทั้งจากบ้านในกรุงเทพฯและเพิ่มเติมเข้ามาตามการใช้งาน อย่างโซฟาตัวใหญ่ๆ ไว้นั่งสบาย เพราะเน้นที่ความสบายเป็นหลักครับ ส่วนสไตล์ก็ผสมผสานตามชอบในขนาดที่ไม่สูงจนบังวิวหรือบังลม”
ถ้าวันไหนอากาศดี มุมนั่งเล่นนอกบ้านและสระว่ายน้ำก็จะดูมีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ เพราะหลังจากจิบเครื่องดื่มเย็นๆ ที่เก้าอี้ริมสระแล้ว เจ้าของบ้านก็มักว่ายน้ำออกกำลังกายไปตลอดช่วงบ่ายสลับกับการขึ้นมานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างรื่นรมย์
“ส่วนบ้านอีกหลังที่สร้างตามมานั้นเกิดขึ้นเพราะเจ้าของหาที่วางโต๊ะพูลของ Brunswick ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่นวินเทจจากปี 1940 แต่ในบ้านหลังแรกพื้นที่ค่อนข้างเต็มและลงตัวแล้ว จึงมีไอเดียสร้างบ้านหลังนี้เพื่อแยกส่วนสันทนาการออกมาโดยเฉพาะ โดยมีโต๊ะพูลเป็นพระเอกที่กำหนดฟังก์ชันอื่นๆ ให้รับกัน ทั้งส่วนของเคาน์เตอร์บาร์เครื่องดื่ม มุมตั่งนั่งเล่นสำหรับเพื่อนๆ ที่มาสังสรรค์ และระเบียงขนาดใหญ่พร้อมที่นั่งเล่นซึ่งมองเห็นวิวธรรมชาติโดยตัวบ้านไม่บังกันและกัน
“เพื่อให้งานก่อสร้างรวดเร็วและลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการก่อสร้าง บ้านหลังนี้จึงเป็นโครงสร้างเหล็กมีแค่รากฐานที่เป็นคอนกรีต ยกใต้ถุนสูงเพื่อปรับระนาบไปตามพื้นที่ลาดเอียงเดิม ทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากใต้ถุนเป็นห้องระบบ ห้องเก็บของใช้ในสวน และที่จอดรถได้ด้วย ตัวบ้านที่หันไปทางทิศตะวันตกก็ใช้ผนังอาคารช่วยบังแดด โดยยังคงดึงเอกลักษณ์ของเทอร์ราคอตตาจากบ้านหลังแรกมาใช้เหมือนกัน”
แม้ว่าสภาพอากาศของกาญจนบุรีจะได้ชื่อว่าร้อนมากในฤดูร้อนและหนาวมากในฤดูหนาว แต่ด้วยการออกแบบที่อ่อนน้อมต่อบริบทซึ่งก็คือธรรมชาติ กลับทำให้บ้านหลังนี้อยู่สบายในทุกฤดูกาลโดยไม่สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า ผลพลอยได้น่าจะเป็นพลังชีวิตที่ได้รับการเติมเต็มจากธรรมชาตินั่นเอง
สถาปนิก : คุณเอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน
เรื่อง :ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์ ภาพ :ศุภกร ศรีสกุล ขอบคุณที่มา : บ้านและสวน
Comments