top of page
ค้นหา
ssirapastsorn

ซื้อที่ดินสร้างบ้าน กว้าง ลึกกี่เมตร ถึงจะกำลังดี


ขนาดที่ดินสำหรับสร้างบ้าน


ขนาดของที่ดินมีผลต่อการออกแบบบ้าน กรณีที่ดินหน้าแคบมากเกินไปจะยากต่อการหาแบบบ้านมาสร้าง หรือแม้แต่การจ้างสถาปนิกออกแบบบ้านใหม่ หากที่ดินหน้าแคบมาก มักมีข้อจำกัดในการวางผังแปลนบ้าน เพราะการสร้างบ้านไม่ได้นับเพียงพื้นที่ก่อสร้างเท่านั้น แต่ต้องนับรวมระยะร่นตาม พรบ.ควบคุมอาคารกำหนด หากที่ดินมีหน้าแคบน้อย จำเป็นต้องออกแบบผนังด้านข้างปิดทึบ ไม่มีช่องแสง ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่อาศัยที่อึดอัด ไม่โปร่งสบาย


ส่วนที่ดินหน้ากว้าง จะเจอปัญหาเฉพาะกรณีหน้ากว้างมากและกลับตื้น ส่งผลให้บ้านยากต่อความเป็นส่วนตัว และอาจต้องใช้งบประมาณก่อสร้างสูงกว่าบ้านแนวลึก เนื่องด้วยส่วนหน้ากว้างเป็นส่วนที่ต้องโชว์ความสวยงาม จำเป็นต้องมีวัสดุตกแต่งมากขึ้นครับ เนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” แนะนำขนาดที่ดิน ที่พอเหมาะ พอดี กับการซื้อไว้เพื่อใช้สร้างบ้านเดี่ยวมาฝากกันครับ


สนับสนุนโดย : ปันแปลน ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์




ขนาดที่ดินเท่าไหร่ถึงพอดี


ตัวอย่างในเนื้อหาชุดนี้ จะเหมาะสำหรับที่ดินผืนเล็ก ๆ เพื่อใช้สร้างบ้านเดี่ยวทั่วไป ไม่รวมถึงบ้านทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และเป็นที่ดินขนาดไม่เกิน 200 ตร.ว. นะครับ เพราะหากเป็นที่ดินผืนใหญ่มากกว่านี้ โดยปกติจะไม่มีปัญหาใด ๆ ยิ่งมีพื้นที่มาก ยิ่งสามารถวางผังบ้านได้อย่างหลากหลาย แต่ที่ดินผืนเล็กจะมีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย จำเป็นต้องศึกษากันก่อนที่จะเลือกซื้อที่ดิน


ที่ดินบ้านเดี่ยว ควรมีหน้ากว้าง 14 เมตรขึ้นไป


เหตุที่แนะนำให้เลือกที่ดินหน้ากว้าง 14 เมตรขึ้นไป เนื่องจากเป็นขนาดที่สามารถออกแบบไว้สำหรับเว้นระยะร่นทั้ง 2 ด้านแล้ว โดยปกติตาม พรบ.ควบคุมอาคาร จะบังคับให้เว้นระยะร่นไว้ด้านละ 2 เมตร การเว้นตามระยะ 2 เมตร จะสามารถออกแบบบ้านให้มีช่องแสง ช่องหน้าต่างได้ครับ เมื่อหักระยะร่นด้านละ 2 เมตรแล้ว บ้านจะเหลือพื้นที่ขนาด 10 เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการจัดผังบ้านเดี่ยวได้อย่างหลากหลาย และขนาดดังกล่าวจะรองรับกับการออกแบบโรงจอดรถยนต์ไว้ด้านใดด้านหนึ่งขนาด 5 เมตรได้ เป็นขนาดที่รองรับการจอดรถยนต์ 2 คันครับ


ที่ดินลึก 16 เมตรขึ้นไป


โดยปกติ หากเป็นบ้านโครงสร้างทั่วไป ผู้ออกแบบจะนิยมออกแบบห้องให้มีขนาดความกว้าง 4 เมตร เพื่อให้ระยะเสา คาน เป็นระยะพื้นฐานที่เอื้อต่อการประหยัดค่าโครงสร้าง รวมทั้งสามารถหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ง่าย ซึ่งหากแบ่งช่วงบ้านเป็น 2 ห้อง หน้า หลัง จะได้ขนาด 8 เมตร และเผื่อพื้นที่ระเบียงด้านหน้า หรือสำหรับต่อเติมครัวไทยหลังบ้านอีกด้านละ 2 เมตร เมื่อบวกระยะร่นตาม พรบ.ควบคุมอาคาร จะได้ขนาดที่ดินตามแนวลึก 16 เมตรครับ


กรณีหน้ากว้างเกินไป แบ่งแปลงย่อมดีกว่า


สำหรับที่ดินหน้ากว้างมาก ๆ และมีความลึกในขนาดพอเหมาะ เช่น หน้ากว้าง 50 เมตร ลึก 15 เมตร เป็นสัดส่วนที่สามารถจัดสรรพื้นที่ได้ยาก แนะนำให้แบ่งที่ดินเป็น 4 แปลง เป็นขนาด 25 x 15 เมตร จะสามารถจัดผังได้ง่ายกว่าครับ หรือใช้สำหรับทำบ้านทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม ขนาด 5×15 เมตร จะได้ทั้งหมด 10 ยูนิตโดยประมาณครับ



ที่ดิน หน้าแคบมาก และลึกมาก แนะนำให้เลี่ยงซื้อ


โดยปกติที่ดินหน้าแคบ หากแคบแต่สัดส่วนดีก็นับเป็นที่ดินเหมาะสมกับการซื้อสร้างบ้าน เช่น หน้าแคบ 10 เมตร ลึก 20-30 เมตร ยังเป็นขนาดที่สถาปนิกพอจะออกแบบบ้านเดี่ยวให้มีสัดส่วนที่ลงตัวได้ แต่บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเห็นที่ดินขนาด 10 เมตร ลึกมากกว่า 50 เมตร ขนาดดังกล่าวเป็นขนาดที่จัดสรรที่ดินได้ยากกว่าที่ดินทั่วไป จึงไม่แนะนำให้ซื้อครับ


ที่ดินติดน้ำ ต้องเผื่อระยะร่นมากกว่าเดิม


หลาย ๆ ท่านมาปรึกษา อยากได้บ้านพักตากอาศริมน้ำในต่างจังหวัด การซื้อที่ดินริมน้ำได้ นอกจากจะรวยมากแล้วจะต้องรู้ข้อกฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคารด้วยครับ มิเช่นนั้นบ้านของท่านอาจถูกรื้อถอนภายหลังได้ โดยปกติ พรบ.ควบคุมอาคารได้กำหนดการก่อสร้างบ้านริมน้ำ ให้เว้นระยะร่น ดังนี้


– ความกว้างคลองสาธารณะ น้อยกว่า 10 เมตร เว้นระยะร่น 3 เมตร

– ความกว้างคลองสาธารณธะ 10 เมตรขึ้นไป เว้นระยะร่น 6 เมตร

– ที่ดินติดแหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เว้นระยะร่น 12 เมตร


การเว้นระยะร่นตาม พรบ. ควบคุมอาคารกำหนดไว้นั้น จะช่วยป้องกันให้การอยู่อาศัยริมน้ำปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะลำน้ำบางแห่งอาจเกิดภัยพิบัติเมื่อไหร่ไม่อาจคาดการณ์ได้ อาทิ น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม หรือแม้แต่เหตุการณ์น้ำล้นตะหลิ่ง และการควบคุมพื้นที่ริมน้ำ จะช่วยให้ผังเมืองดูงดงามตาขึ้นนั่นเองครับ


กรณีศึกษา : ผู้เขียนได้รับการติดต่องานออกแบบของลูกค้าท่านหนึ่ง มีที่ดินริมแม่น้ำปิง ที่ดินดังกล่าวมีขนาด 20 x 12 เมตร เนื่องด้วยแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ตาม พรบ. ควบคุมอาคารบังคับให้เว้นระยะร่น 6 เมตรขึ้นไป หากหักระยะร่นทั้งด้านหน้าและด้านหลังแล้ว ที่ดินแปลงนี้จะเหลือพื้นที่สร้างบ้านเพียง 4 เมตรเท่านั้น จึงก่อให้เกิดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการออกแบบ ท้ายที่สุดเจ้าของจึงขายเพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อทำเป็นร้านค้าแทนครับ ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย

ดู 99 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page