ซ่อมรอยต่อส่วนต่อเติมของบ้านอย่างไรให้ถูกวิธีและดูดี
ปัญหาบ้านในส่วนต่อเติมเกิดการทรุดตัวเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยวิธีที่เหมาะสม
การต่อเติมส่วนต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ห้องครัว โรงจอดรถ หรือส่วนอื่นๆ ของบ้าน เป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้โดยทั่วไป โดยการต่อเติมส่วนต่างๆ ของบ้านนั้น มักมาพร้อมกับปัญหาของการทรุดตัวของส่วนต่อเติมใหม่ ทำให้เกิดการแตกร้าวตามจุดต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเราสามารถซ่อมแซมความเสียหายให้ดูดีได้ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดการแตกร้าวซ้ำได้ หากทำอย่างถูกวิธี
รอยร้าว รอยรั่ว หรือรอยแยก ของส่วนต่อเติมกับบ้านหลัก มักจะเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ยืดหยุ่นในการเชื่อมรอยต่อเข้าด้วยกัน เช่น ปูนฉาบ หรือปูนยาแนว ดังนั้นหลักการที่ถูกต้องในการซ่อมแซมจึงต้องเลือกใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นตัวสูง เช่น ซิลิโคน หรือ โพลียูรีเทน (PU) โดยรอยต่อในแต่ละส่วนของบ้าน มีแนวทางในการซ่อมแซมดังนี้
1. รอยต่อระหว่างผนัง
การนำปูนทรายไปฉาบอุดรอยร้าวที่ผนังนั้นเป็นการซ่อมแซมได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะการทรุดตัวจะยังคงมีต่อไป วิธีแก้ไขที่แนะนำจึงควรตัดรอยต่อของผนังทั้งแนวให้ขาดจากกันทั้งด้านในถึงด้านนอก แล้วอุดรอยต่อนี้ด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่น เช่น ซิลิโคน หรือ โพลียูรีเทน (PU) เป็นต้น หากผนังดูไม่สวยงามก็สามารถใช้ไม้ หรือไม้เทียมปิดบังรอยต่อได้ โดยยึดไม้ไว้กับผนังเพียงฝั่งเดียวเพื่อให้รอยต่อสามารถขยับตัวได้
2. รอยต่อระหว่างพื้น
รอยแยกระหว่างยาแนวกระเบื้อง หรือรอยแตกของกระเบื้องซึ่งเกิดจากการปูคร่อมรอยต่อ สามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดรอยต่อที่พื้นให้แยกจากกัน แล้วอุดด้วย ซิลิโคน หรือ โพลียูรีเทน (PU) ในส่วนของรอยต่อที่พื้นสามารถปิดให้สวยงามได้โดยใช้วัสดุเป็นตัวจบ เช่น ตัวจบสเตนเลส ตัวจบไม้ หรือวัสดุอื่นๆ
3. รอยต่อระหว่างฝ้าเพดาน
เช่นเดียวกับพื้นและผนัง ควรตัดรอยต่อระหว่างฝ้าเพดานออกจากกัน แล้วอุดด้วย ซิลิโคน หรือ โพลียูรีเทน (PU) หากฝ้าเพดานของส่วนต่อเติมชนกับผนังของบ้านหลัก สามารถใช้ไม้มอบฝ้า หรือบัวฝ้าเพดานปิดรอยต่อเพื่อความสวยงามได้เช่นกัน
4. รอยต่อระหว่างหลังคากับบ้านหลัก
โดยปกติแล้วบริเวณที่หลังคาชนกับผนังบ้าน จะมีการใช้ Flashing ปิดรอยต่อไม่ให้น้ำเข้า ซึ่ง Flashing มีทั้งแบบปูน แบบแผ่นโลหะ และแบบแผ่นยาง ในกรณีที่เป็นหลังคาของส่วนต่อเติมใหม่กับบ้านหลัก ควรใช้ Flashing แบบแผ่นโลหะ เช่น แผ่นสเตนเลส โดยกรีดร่องผนังบ้านหลักตลอดแนวหลังคา แล้วเสียบแผ่น Flashing เข้าไป จากนั้นจึงอุดร่องผนัง และร่องระหว่างหลังคาด้วย โพลียูรีเทน (PU) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Flashing แบบแผ่นยาง ซึ่งติดตั้งง่ายกว่าเพียงลอกสติกเกอร์แล้วแปะทับรอยต่อระหว่างผนังและหลังคาได้ทันที ทั้งนี้ Flashing แบบแผ่นยาง จะมีอายุการใช้งานจะไม่เท่า Flashing แบบแผ่นโลหะ
สุดท้ายนี้ หากใครที่ต่อเติมบ้านอย่างผิดวิธี โดยเชื่อมโครงสร้างของส่วนต่อเติมเข้ากับบ้านหลัก รอยร้าวที่เกิดขึ้นสามารถซ่อมแซมชั่วคราวตามวิธีข้างต้นได้ แต่ควรหมั่นสังเกตรอยร้าวตามโครงสร้างเสาและคานอยู่เสมอ เพราะการทรุดตัวของส่วนต่อเติมจะดึงรั้งโครงสร้างของบ้านหลักไปด้วย หากรอยร้าวมีเพิ่มมากขึ้นควรปรึกษาวิศวกรเพื่อหาทางแก้ไขต่อไปนะครับผม
Ref:SCG Building Materials
留言