top of page
ค้นหา
ssirapastsorn

Do & Don’t สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำก่อนรีโนเวทอาคาร




ปัจจุบันเกิดกระแสการพัฒนาย่านเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงพบเห็นการ รีโนเวท อาคารหรือบ้านเก่าได้บ่อยครั้ง และน่าจะเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

อาจเพราะหลายคนคิดว่าการ รีโนเวท คุ้มค่ากว่าการสร้างใหม่ ต้องการอนุรักษ์อาคารเดิมไว้ มีความจำเป็นต้องปรับการใช้งานอาคาร หรือการเลือกอาคารในย่านเก่ามาสร้างเป็นแหล่งธุรกิจ ซึ่งมีทั้งการต่อเติมเพียงบางส่วนและรีโนเวทใหม่ทั้งหลัง

ด้วยเหตุนี้ บ้านและสวน จึงนำ 10 สิ่งควรทำและไม่ควรทำซึ่งเป็นข้อควรพิจารณาก่อนการรีโนเวทมาฝาก ดังนี้

1.Do : ตั้งโจทย์ให้ชัด

สิ่งสำคัญอย่างแรกในการรีโนเวตคือ การตั้งโจทย์ หากมองในภาพรวมแล้ว การรีโนเวทหมายถึงการคืนสภาพ ปรับปรุง หรือต่อเติมอาคารให้เหมาะสมตามความต้องการของเรา โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การวางเป้าหมายในการรีโนเวทให้ชัดเจนหลายท่านเข้าใจว่าการรีโนเวตใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างใหม่ โดยหารู้ไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้วบ้านที่สร้างใหม่กับบ้านที่รีโนเวตนั้นใช้งบประมาณใกล้เคียงกันเลยทีเดียว เพียงแต่บ้านรีโนเวตนั้นจะได้เปรียบเรื่องทำเลและสภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้คาดการณ์การ เปลี่ยนแปลงของพื้นที่โดยรอบได้ง่ายอีกทั้งบางอาคารยังมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเหมาะจะรีโนเวทให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

สำหรับการตั้งโจทย์เราอาจกำหนดไว้คร่าวๆ เช่น ต้องการรีโนนเวตเพื่อใช้งานแบบประหยัด ต้องการปรับปรุงเพื่อการพาณิชย์ หรือต้องการปรับการใช้งานเพื่อรองรับสมาชิกในบ้านที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ ทิศทางของการออกแบบมีความชัดเจนซึ่งส่งผลไปยังงบประมาณและขั้นตอนการทำงานด้วย

2.Don’t  : ทำเองทุกอย่าง

บางท่านอาจคิดว่างานง่ายๆ บางอย่าง เช่น การเลือกซื้อวัสดุหรือการทาสีผนัง สามารถจัดการได้เองและต้องการประหยัดงบประมาณแต่ช้าก่อน! หากลองพิจารณาดูให้ดีแล้ว งบประมาณค่าแรงที่ประหยัดได้อาจไม่คุ้มสักเท่าไร เช่น การซื้อวัสดุเองที่หากคำนวณพลาดก็ต้องเสียเงินและเสียเวลาไปซื้อเพิ่ม หรือซื้อมาเผื่อมากเกินจำเป็นส่วนงานทาสีที่อาจดูไม่ยากในตอนแรก แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยเลยมากกว่านั้นการเตรียมพื้นผิวที่ไม่ดีอาจทำให้สีลอกล่อนเร็วกว่าเวลาอันควรการเลือกใช้ช่างมืออาชีพและปรึกษาผู้ชำนาญการจึงเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะสุดท้ายแล้วการรีโนเวทบ้านหรืออาคารนั้นยังมีปัญหาให้ต้องคำนึงถึงอีกมากมาย การมัวแต่หยิบจับงานมาทำเองอาจทำให้เราพานหงุดหงิดไปเสียก่อนก็เป็นได้

3.Don’t  : เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง


การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เช่น ตัดคาน ทุบผนังรับน้ำหนัก รื้อพื้น ไม่ควรตัดสินใจเอง เพราะระบบโครงสร้างของบ้านมีอยู่หลายประเภท ที่สำคัญโครงสร้างเหล่านี้มักมีการรับแรงสัมพันธ์กันเป็นระบบ การรื้อโครงสร้างเพียงบางส่วนจึงอาจส่งผลกระทบไปถึงโครงสร้างอาคารทั้งหลังได้ โดยเฉพาะอาคารเก่าที่ไม่มีแบบก่อสร้างยิ่งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการรีโนเวท

อีกทั้งอาคารเก่ามักมีปัญหาซ่อนเร้นอยู่ในระบบโครงสร้าง เช่นเหล็กเส้นในโครงสร้างปูนที่ได้รับความชื้นมักเกิดสนิม หรือคานเสาที่มีปัญหาปริแตกซึ่งอาจซ่อนอยู่ในพื้นที่ที่มองไม่เห็นอย่างในฝ้าเพดานจึงควรตรวจสอบสภาพและแก้ไขให้แข็งแรงเสียก่อน โดยมีข้อควรระวังในการรีโนเวทและต่อเติมบ้าน ดังนี้

ไม่ฝากโครงสร้างส่วนต่อเติมไว้กับโครงสร้างเดิม เพราะโครงสร้างใหม่อาจดึงรั้งจนทำให้โครงสร้างเดิมเสียหายได้ห้ามทุบหรือเจาะช่องผนังหล่อสำเร็จรูป ผนังรับน้ำหนักเพราะผนังเหล่านี้ทำหน้าที่แทนเสารับน้ำหนักระวังการเพิ่มน้ำหนักให้อาคาร เช่น การทำสวนและบ่อน้ำบนดาดฟ้าที่ไม่ได้เตรียมโครงสร้างไว้ หรือการเปลี่ยนฟังก์ชันอาคาร จากที่พักอาศัยเป็นสำนักงาน เพราะที่พักอาศัยจะออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกจริงได้อย่างน้อย 150 กิโลกรัม / ตารางเมตร แต่สำนักงานต้องรับน้ำหนักบรรทุกจริงอย่างน้อย 250 กิโลกรัม / ตารางเมตร

4.Do : วางแผนให้รัดกุม

สิ่งท้าทายในการรีโนเวทอาคารเก่าคือ เมื่อทุบรื้อผนังและโครงสร้างเดิม เราไม่รู้ว่าจะพบอะไรที่เป็นอุปสรรคกับการก่อสร้าง จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิก มัณฑนากร หรือวิศวกรเพื่อวางแผนการทำงานอย่างรัดกุม พร้อมทั้งคิดแผนสำรองเผื่อไว้หากพบสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจต้องมีการปรับแบบก่อสร้างและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าบ่อยครั้งโดยเบื้องต้นควรวางแผนการทำงาน ดังนี้

สรุปความต้องการให้ชัดเจนจ้างนักออกแบบ เพื่อทำแบบก่อสร้างและให้คำแนะนำในทุกเรื่อง ทั้งกฎหมาย ขั้นตอน และการแก้ปัญหายื่นขออนุญาตจัดจ้างผู้รับเหมาทำแผนงานก่อสร้าง เพื่อกำหนดระยะเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอนซึ่งจะสัมพันธ์กับการเบิกเงินในแต่ละงวดของผู้รับเหมาเตรียมพื้นที่ ทั้งการย้ายและเก็บของ หากเจ้าของยังอาศัยอยู่ขณะที่ก่อสร้าง จำเป็นต้องวางแผนให้ก่อสร้างเป็นส่วนๆบอกกล่าวเพื่อนบ้านข้างเคียง เพื่อลดความเสียหายและความขัดแย้ง

5.Do : ศึกษากฎหมายให้ดีก่อน

การต่อเติมและการรีโนเวทถือเป็นการดัดแปลงอาคาร ซึ่งพอจะสรุปความตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) ว่าด้วยเรื่องการดัดแปลงอาคารได้ว่าการดัดแปลงอาคารต่อไปนี้ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือโครงสร้างเหล็กการต่อเติมที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่โครงสร้างเดิมเกิน 10 เปอร์เซ็นต์การต่อเติมหรือลดพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งเกิน 5 ตารางเมตร โดยมีการเพิ่มเสาและคานการต่อเติมหรือลดพื้นที่หลังคาเกิน 5 ตารางเมตร โดยมีการเพิ่มเสาคานและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรีโนเวตบ้านหรืออาคารแล้วจะต้องยึดตามข้อกฎหมายปัจจุบันเป็นสำคัญ จึงมักมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น ตำแหน่งทางเข้าบ้านที่อาจต้องห่างจากถนนหลักมากขึ้น หรือระยะร่นที่เปลี่ยนไป


6.Don’t  : ละเลยงานระบบ

งานระบบไฟฟ้า สุขาภิบาล และอื่นๆ เป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงการใช้งานของอาคารทั้งหลังเลยทีเดียวซึ่งอาคารเก่ามักจะมาพร้อมกับระบบที่ทรุดโทรมและไม่สมบูรณ์ มากกว่านั้นยังมีปัญหาซ่อนเร้นที่รอการแก้ไขอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของระบบท่อต่างๆ หรือสายไฟที่เสื่อมสภาพ ดังนั้นหากอาคารมีอายุเกิน 10 ปีควรตรวจสอบอุปกรณ์สายไฟและท่อว่าอยู่ในสภาพที่ดีไหม หากอาคารมีอายุเกิน 15 ปีควรพิจารณาเปลี่ยนงานระบบใหม่ทั้งหมดก็จะคุ้มค่ากว่าการต้องทุบรื้อพื้นและผนังเพื่อซ่อมแซมภายหลัง

7.Do : เรียนรู้ข้อจำกัด

ข้อจำกัดของอาคารจะเป็นสิ่งกำหนดการออกแบบและขั้นตอนการทำงาน เช่น การรีโนเวทคอนโดมิเนียม มักมีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำงาน ทำให้เกิดเสียงดัง และการขนของขึ้นลิฟต์มีผลให้การทำงานล่าช้าลง หรือหากเป็นอาคารเก่า เมื่อตรวจสอบสภาพโครงสร้างแล้วอาจไม่สามารถรับน้ำหนักวัสดุที่ต้องการได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องเสียเวลาและงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา จึงควรทำความเข้าใจข้อจำกัดของโครงการก่อนเริ่มออกแบบ

8.Don’t  : ฝืนเก็บโครงสร้างเดิมไว้

หากสภาพโครงสร้างเดิมเสียหายมากหรือเป็นอุปสรรคต่อการรีโนเวท การทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว ยังทำให้ใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ถ้าสิ่งก่อสร้างนั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็ต้องลงทุนเพื่อบูรณะ เจ้าของบ้านจึงควรประเมินร่วมกับนักออกแบบเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน

9.Do : เผื่องบไว้บ้าง

“สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงโดยเฉพาะในการรีโนเวท ซึ่งเราอาจเจอปัญหาให้ต้องแก้ไขเพิ่ม จึงควรเผื่องบอีก 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณการก่อสร้าง ไม่เช่นนั้นแล้วหากเจอปัญหาขึ้นมา งานอาจจะสะดุดทำให้โครงการเสร็จล่าช้า หากปล่อยไว้นานจะยิ่งส่งผลให้งบประมาณบานปลายมากกว่าเดิม

10.Don’t  : เปลี่ยนใจบ่อย

สิ่งที่อยากจะบอกคุณผู้อ่านทุกท่านในฐานะที่ส่วนใหญ่น่าจะเป็น “ลูกค้า”ที่ต้องการรีโนเวทคือ “กรุณาอย่าเปลี่ยนใจบ่อย” เพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนใจนั่นหมายถึงการสูญเสียงบประมาณและเวลา หากเริ่มงานก่อสร้างแล้วก็ต้องทุบรื้อแก้ไขงาน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งเจ้าของและตัวบ้านเอง เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มก่อสร้างควรพูดคุยกับนักออกแบบไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกหรือมัณฑนากรอย่างละเอียดและชัดเจนเสียก่อน ในส่วนของนักออกแบบก็ต้องพยายามอธิบายให้เจ้าของบ้านเข้าใจ ก็จะช่วยให้งานก่อสร้างราบรื่นและสมดังใจทุกฝ่าย

เรื่อง: “วุฒิกร สุทธิอาภา”, “ศรายุทธ” ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล ขอบคุณที่มา: บ้านและสวน

ดู 91 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page