ธีก่อผนังอิฐมวลเบาในห้องน้ำ
หนึ่งคำถามยอดฮิตของคนที่กำลังคิดสร้างบ้านมักสงสัยกันว่า “อิฐมวลเบา สามารถใช้ก่อผนังห้องน้ำได้หรือไม่” เนื่องด้วยความกังวลใจเรื่องความชื้นที่มีมากกว่าห้องอื่น ๆ และข้อมูลที่ทราบกันมาว่า อิฐมวลเบามีลักษณะเป็นรูพรุนหรือฟองอากาศภายในตัวอิฐ จึงทำให้หลายท่านเข้าใจผิดว่าอิฐมวลเบาจะดูดความชื้นไว้มาก ไม่เหมาะนำมาใช้ก่อผนังห้องน้ำ
ซึ่งความเป็นจริงแล้วอิฐมวลเบาสามารถก่อผนังได้ทุกจุด ทั้งผนังภายใน ผนังภายนอก ผนังบริเวณที่รับน้ำหนักมากรวมทั้งผนังห้องน้ำด้วย เพียงแต่การเลือกใช้วัสดุแต่ละประเภทจะไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดียวกันได้ กล่าวคือ การก่อผนังด้วยอิฐมอญย่อมมีวิธีการก่อแบบอิฐมอญ การก่อผนังด้วยอิฐมวลเบาก็เช่นกันครับ จำเป็นต้องใช้กระบวนการก่อแบบอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” นำวิธีการก่ออิฐมวลเบาอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถใช้กับห้องน้ำได้อย่างเหมาะสม
เข้าใจอิฐมวลเบาก่อนก่อผนังห้องน้ำ
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันสักนิดว่า ผนังอิฐฉาบปูนทุกชนิดหากไม่มีกระบวนการก่อที่ถูกต้องล้วนเกิดความชื้นในห้องน้ำได้ทั้งนั้น โดยความชื้นมักมาทางใต้ดิน, ความชื้นที่เกิดจากฝนสาดเข้าผนังบ้าน, ความชื้นจากการปูกระเบื้องไม่ถูกวิธี ฯลฯ สำหรับอิฐมวลเบาทั่วไปจะมีความพรุนในเนื้อสูง เพราะมีฟองอากาศแบบเปิด (Open Cell) ซึ่งทำให้ดูดความชื้นได้มาก แต่ในปัจจุบันมีการผลิตอิฐมวลเบาแบบอบไอน้ำความดันสูง ทำให้ความพรุนในเนื้ออิฐลดลง มีความสามารถในการป้องกันน้ำซึมได้ดีกว่า
ทั้งนี้การใช้งานในห้องน้ำด้วยอิฐมวลเบา ต้องมีขั้นตอนที่พิเศษหลัก 4 ข้อคือ ก่อถูกวิธี, ทำระบบกันซึมมีคุณภาพ, ฉาบถูกวิธีและปูกระเบื้อง ทายาแนวถูกวิธี เพื่อให้การใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่ง 5 ขั้นตอนย่อย ๆ ดังนี้
1. เลือกปูนและอุปกรณ์สำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ
วิธีการก่อผนังห้องน้ำสิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือ ต้องใช้ปูนและเกรียงก่อสำหรับก่อสร้างอิฐมวลเบาเท่านั้น เพราะผนังอิฐมวลเบาถูกออกแบบมาให้รองรับการแห้งตัวที่เร็วและมีค่าการยืดหดตัวมากกว่าอิฐมอญ การใช้ปูนก่อฉาบทั่วไปย่อมส่งผลให้เกิดการยืดหดตัวไม่พอดีกัน เกิดการแตกร้าวได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะที่เหมาะสม เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ผนังสวยสมบูรณ์ได้มาตรฐาน สำหรับขั้นตอนการก่อนั้นเริ่มจากการผสมปูนกับน้ำในอัตราส่วนที่กำหนด ขึงเอ็นกำหนดแนวก่อ แล้วทำขอบกันชื้นในขั้นตอนต่อไป
2. ทำขอบพื้นคอนกรีตและปูพลาสติกกันชื้น
จุดที่ก่อให้เกิดความชื้นมากที่สุดในห้องน้ำ คือ พื้นห้องน้ำที่เกิดจากการใช้งานต่าง ๆ ตามหลักการธรรมชาติแล้ว บริเวณที่มีความแห้งจะดูดซับความเปียกชื้นจากบริเวณที่เปียกชื้นกว่า ผนังบริเวณใกล้พื้นห้องน้ำจึงสามารถดูดซับความเปียกชื้นจากพื้นห้องน้ำได้ จำเป็นต้องป้องกันการดูดความชื้นด้วยการทำขอบพื้นคอนกรีตประมาณ 10 เซนติเมตร ตั้งแต่กระบวนการเทพื้นคอนกรีต และให้ปูแผ่นพลาสติกอีกชั้นก่อนก่อผนังแถวแรกเพื่อป้องกันความชื้นขึ้นสู่ผนังอิฐมวลเบา
3. ติดลวดกรงไก่ทุกจุดเชื่อมต่อ กันร้าวให้ผนัง
โดยปกติผนังอิฐมวลเบาจะต้องเชื่อมต่อประสานกับวัสดุอื่น ๆ ทั้งโครงสร้างเสาคอนกรีต คาน ทับหลัง เชื่อมต่อกับวงกบประตูหน้าต่าง รวมทั้งในกรณีกรีดผนังเพื่อฝังท่อ โดยปกติวัสดุจะมีการยืดหดตัวเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง หากเป็นวัสดุเนื้อเดียวกันจะยืดหดเท่า ๆ กัน แต่หากวัสดุต่างคุณสมบัติกันย่อมส่งผลให้การยืดหดตัวของ 2 วัสดุนั้นไม่เท่ากันจึงเป็นที่มาของรอยร้าวบริเวณผนังบ้าน
ดังนั้น ทุก ๆ จุดบนผนังบ้านที่มีการเชื่อมต่อระหว่างวัสดุให้ช่างทำการติดลวดกรงไก่ทับด้านหน้าก่อนฉาบปูนเสมอ ลวดกรงไก่เป็นส่วนช่วยยึดเกาะไม่ให้ผนังเกิดรอยร้าว ซึ่งรอยร้าวต่าง ๆ มักเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผนังรั่วซึมได้
4. ทากันซึมแล้วฉาบผนังให้เรียบ
โดยปกติการเทพื้นห้องน้ำจะแตกต่างกับพื้นบ้านส่วนอื่น ๆ โดยจะใช้พื้นคอนกรีตหล่อในที่ที่มีส่วนผสมของสารกันซึมมาแล้ว อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยห้องน้ำมีผลกระทบกับความเปียกชื้นมาก จึงควรให้ช่างทาสารกันชื้นบริเวณขอบพื้นสูงขึ้นมาประมาณ 30 เซนติเมตร และทาสารกันชื้นบริเวณที่มีรอยต่อต่าง ๆ จากนั้นทำการฉาบผนังให้เรียบ ด้วยปูนฉาบเฉพาะสำหรับอิฐมวลเบา ซึ่งจะมีสารพิเศษลักษณะเหมือนปูนกาว เพิ่มคุณสมบัติการยึดเกาะให้มีแรงยึดเหนี่ยวสูง ที่สำคัญก่อนการฉาบต้องฉีดน้ำรดผนังอิฐให้อิ่มตัว ป้องกันไม่ให้ผนังก่ออิฐดูดน้ำจากปูนฉาบและไม่ควรฉาบหนาเกิน 1.5 ซม. เพื่อป้องกันการแตกร้าว
5. ปูกระเบื้องด้วยกาวซีเมนต์ ยาแนวแต่ละแผ่นให้สมบูรณ์
หลังจากฉาบผนังเรียบร้อยแล้ว ทำการตีแนวปูกระเบื้องที่ผนัง จากนั้นป้ายปูนให้ทั่วหลังแผ่นกระเบื้อง นำแผ่นกระเบื้องมาปูติดผนังแล้วใช้ฆ้อนยางทุบให้ติดแน่นได้ระดับเท่ากัน ข้อสำคัญในกระบวนการนี้คือ ห้ามนำกระเบื้องไปแช่น้ำก่อนปู เพราะจะทำให้การยึดเกาะของกาวซีเมนต์ลดลง เมื่อปูกระเบื้องเสร็จให้ใช้ยาแนวที่มีคุณภาพอุดช่องว่างระหว่างกระเบื้องแต่ละแผ่น ทำความสะอาดเศษกาวซีเมนต์ ยาแนวที่เลอะกระเบื้องและพื้น ห้องน้ำ ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย
Comments