หลายคนคงได้อ่านข่าวจากเหตุการณ์ บ้านทรุด ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านบางบัวทองซึ่งทำให้เกิดการแตกร้าวและทรุดตัวพร้อมกันถึง 16 หลังจนต้องประกาศให้ผู้อยู่อาศัยรีบอพยพออกทันทีและคุณคงเกิดคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรทั้งที่บ้านก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี ทำไมถึงเพิ่งเกิดปัญหาบ้านหลังหนึ่งนั้นอย่างต่ำก็ควรอยู่ได้นาน50 ปีขึ้นไปในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ชั้นดินบนสุดนั้นเป็นดินตะกอนที่เกิดจากการสะสมตัวเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ซึ่งในบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน ชั้นดินเหนียวอ่อนที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 8-12 เมตร มีความอ่อนตัว จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ อาคารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจึงต้องใช้เสาเข็มเพื่อรับน้ำหนักบ้านเอาไว้ ซึ่งอาคารขนาดเล็กจำพวกบ้านนั้นจะต้องวางปลายเสาเข็มเอาไว้ที่ชั้นดินเหนียวแข็งหรือชั้นทรายชั้นแรก พูดง่ายๆก็คือต้องมีเสาเข็มที่ตอกลงไปลึกอย่างน้อย 8-12 เมตร เพื่อให้อาคารถ่ายน้ำหนักลงไปยังชั้นดินเหนียวแข็งได้นั่นเอง อาคารจึงจะไม่ทรุด แตก หรือร้าวอย่างที่เป็นข่าว
อย่างไรก็ตามการตอกเสาเข็ม ทำตอม่อ และก่อสร้างอาคารก็ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้หากการก่อสร้างเหล่านั้นทำไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเราควรรู้ถึงปัจจัยต่างๆที่ทำให้บ้าน ทรุด แตก ร้าว จากสาเหตุในเรื่องชั้นดินและฐานรากซึ่งในบทความ “บ้านทรุด บ้านร้าว บ้านล้ม : จน รวย ไม่เกี่ยว” โดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ พอจะสรุปความได้ดังนี้
ปัญหาจากเสาเข็ม
บ่อยครั้งที่ปัญหาบ้านแตก ร้าว และทรุดเกิดขึ้นจากเสาเข็มที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การถ่ายเทน้ำหนักของโครงสร้างไม่เท่ากัน เป็นผลให้แรงดึงฉีกบ้านจนแตกร้าว โดยปัญหาที่มักพบกับเสาเข็มก็คือ
เสาเข็มสั้นเกินไป การที่เสาเข็มลงไปไม่ถึงชั้นดินที่แข็งแรงพอทำให้เมื่อผ่านเวลาไปบ้านจึงทรุดลงไปจนกว่าจะถึงชั้นดินที่แข็งแรง หากทรุดไม่เท่ากันก็จะเกิดการแตกร้าวในที่สุดป้องกันได้โดยการตรวจสอบชั้นดินให้ดีเสียก่อน
เสาเข็มวิบัติ การที่เสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักอาคารได้ เกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอายุของเสาเข็ม หรือวิธีการตอกเสาเข็มที่ผิดพลาด รวมทั้งการต่อเสาเข็มที่ไม่ได้ศูนย์ก็จะทำให้เกิดความเสียหายในภายหลังได้ ป้องกันได้โดยตรวจสอบวิธีการก่อสร้างให้ถูกมาตรฐานไม่ลัดหรือดัดแปลงขั้นตอนจนเกิดความเสียหาย
ปัญหาจากตอม่อ
ตอม่อวิบัติ มักเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานมีน้ำหรือดินท่วมในแบบหล่อหรือตอม่อแช่อยู่ในน้ำ นานวันเข้าจึงผุกร่อนเสื่อมสภาพเร็วก่อนเวลาอันควร อีกทั้งเหล็กที่เป็นสนิมยังบวมและดันให้คอนกรีตแตกออกได้
ตอม่อเยื้องศูนย์ เป็นการวางตำแหน่งเสาเข็มตอม่อ และฐานรากที่ผิดพลาด ทำให้ตอม่อถูกบิดและวิบัติจากการที่รับแรงซึ่งผิดไปจากการคำนวณ เป็นผลให้บ้านเกิดอาการทรุดในทางที่ตอม่อเยื้อง
ปัญหาจากการถมดิน
การเร่งถมดิน การถมดินจำเป็นจะต้องมีการรอให้ดินที่ถมมีการยุบตัว หากตอกเสาเข็มทันทีที่ถมเสร็จ ชั้นดินเหนียวอ่อนจะฉุดเข็มที่ตอกแล้วให้ทรุดลง ยิ่งหากมีแรงฉุดมาก เข็มอาจเกิดการวิบัติขึ้นได้ จึงควรเผื่อเวลาหลังถมตามความเหมาะสมด้วย
การเลือกชนิดดิน ดินเหนียวจะทรุดมากกว่าดินทราย หากมีการบดอัดจะทรุดตัวน้อยกว่าไม่บดอัด ความเหมาะสมควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการทดสอบ
การทรุดตัวของดินฐานราก ถ้าชั้นดินฐานรากเป็นชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีการถมดินเพิ่มเติม ดินดังกล่าวจะมีการทรุดตัว แต่เป็นการทรุดแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะเวลายาวนานอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยมักลืมนึกถึงต้นเหตุไปแล้วก็มี
ปัญหาจากการต่อเติม
การเพิ่มน้ำหนักของอาคาร การต่อเติมอาจทำให้อาคารมีการถ่ายเทน้ำหนักที่ผิดเพี้ยนไป จึงเกิดการทรุดโดยเกิดจากการรั้งกันของโครงสร้างที่ไม่ได้ออกแบบไว้ตั้งแต่แรก
ส่วนต่อเติมใช้เสาเข็มที่ไม่สมดุลกับโครงสร้างเดิม อาจไม่ได้มีการตรวจสอบและเก็บรักษาแบบก่อสร้างเดิมเอาไว้ ทำให้การทรุดตัวของโครงสร้างเป็นไปแบบไม่เท่ากัน จึงอาจก่อให้เกิดการทรุด แตก หรือร้าวได้ในภายหลัง
ปัญหาอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดการทรุดตัวเช่น พื้นที่นั้นเคยเป็นบ่อน้ำหรือบ่อดิน พื้นที่ข้างเคียงมีการก่อสร้าง หรือแม้แต่การทรุดตัวจากน้ำบาดาล การหาสาเหตุจึงต้องมองปัจจัยรอบข้างให้ถี่ถ้วนเพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด
รู้ไว้ใช่ว่า คราวหน้าต้องดูให้ดี
และนี่ก็คือสาเหตุของการทรุด แตก ร้าวของบ้านในแบบที่คุณอาจคาดไม่ถึง ทางที่ดีควรต้องมีการร้องขอดูผลการตรวจสอบจากหมู่บ้าน หรือช่างรับเหมาและสถาปนิกเสียก่อนทุกครั้งในการตรวจรับบ้าน เพราะก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับในเหตุการณ์เช่นที่หมู่บ้านอายุ 20 ปี เช่นนี้ หรือหากจะบรรจุข้อรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ลงในใบสัญญาซื้อขายก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยุติธรรมกับผู้บริโภค
สำหรับผู้ประสบปัญหาเช่นนี้อยู่ก็ขอให้ผ่านไปด้วยดี และสำหรับใครที่กำลังจะซื้อบ้านก็ขอให้ดูให้แน่ใจเสียก่อน เพราะบ้านไม่ใช่อะไรที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนได้ง่ายๆ อยากให้บ้านแสนรักอยู่กับเราไปนานๆก็ต้องพิถีพิถันกันหน่อยนะครับ หากอยากให้แน่ใจว่าที่ดินและฐานรากของโครงการหรือบ้านที่คุณอาศัยอยู่หรือกำลังจะซื้อนั้นเชื่อถือได้แค่ไหนแนะนำให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ <www.eit.or.th> น่าจะได้รับคำตอบที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอนครับ
ขอบคุณที่มา : บ้านและสวน
Comments